วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ประวัติโดยย่อของพระถังซัมจั๋ง-2

กล่าวกันว่า กษัตริย์ของ 18 ประเทศในชมพูทวีปรวมทั้งพระเจ้าหรรษวรรธนะอาลัยอาวรณ์พระถังซัมจั๋งมาก ได้จัดงานเลี้ยงส่งให้นานถึง 75 วัน และมีคนมาร่วมงานครั้งนี้เกือบล้านคน ขณะที่พระถังซัมจั๋งจะออกเดินทาง กษัตริย์ของทั้ง 18 ประเทศและข้าราชการระดับน้อยใหญ่ตามมาส่งเป็นระยะทางไกลถึง 30 ลี้ และหลังจากพระถังซัมจั๋งออกเดินทางได้ 3 วัน พระเจ้าหรรษวรรธนะและกษัตริย์ Kumara Bhaskaravarman ยังควบม้าตามมาส่งถึงกลางทางอีกด้วย

พระ ถังซัมจั๋งเดินทางถึงเมืองฉางอันในวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 645 ฮ่องเต้ถังไท่จงมีพระราชบัญชาให้ข้าราชการระดับน้อยใหญ่ ภิกษุและภิกษุณีมาให้การต้อนรับนอกเมืองฉางอันในระยะ 10 ลี้ ฮ่องเต้ถังไท่จงเรียกให้เข้าเฝ้า 2 ครั้ง และเชิญชวนให้ลาสิกขาบทเพื่อมาช่วยงานราชการแผ่นดิน แต่พระถังซัมจั๋งปฏิเสธคำเชิญชวนนั้น และได้ใช้เวลาร่วม 20 ปีในการแปลพระไตรปิฎกที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดียจากภาษาบาลีเป็นภาษาจีน

พระถังซัมจั๋งถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 664 รวมอายุได้ 62 ปี ฮ่องเต้ถังเกาจง (ฮ่องเต้องค์ใหม่) ทรงรำพึงว่าพระองค์ได้สูญเสียสมบัติอันมีค่าของชาติไป วันที่ทำพิธีฝังศพพระถังซัมจั๋ง มีประชาชนมาร่วมงานถึงล้านคน และคืนนั้นมีประชาชนอยู่เฝ้าหลุมศพถึง 3 หมื่นคน

ประวัติโดยย่อของพระถังซัมจั๋ง-1

พระถังซัมจั๋งหรือเสวียนจั้ง มีชื่อเดิมว่าเฉินเหว่ย เป็นคนอำเภอเอี่ยนซือ มณฑลเหอหนัน เกิดเมื่อปี ค.ศ. 602 (ในสมัยราชวงศ์สุย เหยินโซ่วปีที่ 2) บิดามารดาเสียชีวิตเมื่อเขาอายุได้ 11 ปี และเขาได้บวชเรียนที่วัดจิ้งถู่ซื่อ เมืองลั่วหยางเมื่ออายุ 13 ปี เวลานั้นเป็นช่วงที่ราชวงศ์สุยกำลังจะถูกโค่น บ้านเมืองมีศึกสงครามระส่ำระสาย ต่อมา เขากับพี่ชายซึ่งบวชเป็นพระภิกษุอยู่ก่อนแล้วเดินทางไปจำพรรษาที่วัดฮุ่ยยื่อซื่อ ในเมืองเฉิงตู เมื่ออายุ 20 ปีก็บำเพ็ญศีลอย่างเคร่งครัด ได้ธุดงค์เลียบแม่น้ำแยงซีล่องไปถึงมณฑลหูเป่ย หูหนัน เจียงซี เจียงซู เจ๋อเจียง เหอหนัน และเหอเป่ย กินพื้นที่เกือบๆครึ่งหนึ่งของผืนแผ่นดินจีน เพื่อแสวงธรรมจากผู้รู้จริงในพุทธศาสนา แต่เขาพบว่าอาจารย์แต่ละท่านมีคำสอนหลากหลายแตกต่างกัน จึงเกิดความคิดจะเดินทางไปแสวงธรรมที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพุทธศาสนาที่แท้จริง โดยได้ออกเดินทางจากเมืองฉางอันในปี ค.ศ. 629

พระถังซัมจั๋งได้ศึกษาเล่าเรียนที่วัดนาลันทา ประเทศอินเดียเป็นเวลา 5 ปี ระหว่างที่พำนักอยู่ในอินเดีย เป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าหรรษวรรธนะ (King Harshavardhana) เป็นอย่างมาก พระองค์ได้จัดให้มีการอภิปรายครั้งยิ่งใหญ่เกี่ยวกับพุทธศาสนา และได้เชิญพระถังซัมจั๋งเป็นองค์ปาฐกคนหนึ่งด้วย ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำอภิปรายของพระถังซัมจั๋งเลย การอภิปรายครั้งนี้ทำให้ชื่อเสียงของพระถังซัมจั๋งเป็นที่เลื่องลือ ได้รับยกย่องว่ามีความรู้ในสุตตันปิฎก วินัยปิฎก และอภิธรรมปิฎกเป็นเลิศ ต่อมาในปี ค.ศ. 645 จึงได้เดินทางกลับประเทศจีนซึ่งเป็นรัชสมัยของฮ่องเต้ถังไท่จง

อัฐิพระถังซัมจั๋งที่วัดยาคุชิหยิ เมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น

ที่วัดหยิออนหยิแห่งนี้ ยึดเอาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ (ซึ่งเป็นวันที่พระถังซัมจั๋งถึงแก่มรณภาพ) ของทุกปีเป็นวันบวงสรวงพระถังซัมจั๋ง และวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีจะจัดเทศกาลพระถังซัมจั๋ง โดยมีริ้วกระบวนของเด็กๆแต่งตัวเหมือนซุนหงอคงในเรื่องไซอิ๋วมาร่วมด้วยเสมอ

จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตก ของมหาราชวงศ์ถัง

พระถังซัมจั๋งเป็นผู้ประพันธ์ “จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง” หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “ต้าถังซีวี่จี้” วรรณกรรมเรื่อง “ไซอิ๋ว” ทำให้ชื่อของพระถังซัมจั๋งเป็นที่เลื่องลือและรู้จักกันทั่วไป อัฐิของพระถังซัมจั๋งเดิมในสมัยราชวงศ์ซ่ง ประดิษฐานอยู่ที่เมืองฉางอัน (เมืองซีอานในปัจจุบัน) ต่อมาถูกย้ายมาอยู่ที่เมืองนานกิง หลังเกิดกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว ก็ไม่มีผู้ใดทราบว่าอัฐิของพระถังซัมจั๋งไปอยู่ ณ ที่แห่งใดอีก จนมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดครองเมืองนานกิง และได้ขุดพบโกศหินซึ่งบรรจุอัฐิของพระถังซัมจั๋งโดยบังเอิญ (ปีโชวะ 17) ปีต่อมา อัฐินั้นก็ถูกนำส่งคืนให้แก่รัฐบาลนานกิงในขณะนั้น และในปีโชวะ 19 มีการก่อสร้างเจดีย์เสวียนจั้งบนเขาเสวียนอู่ซัน ในเมืองนานกิง และอัฐิได้ถูกบรรจุไว้ในเจดีย์นี้ ในปีเดียวกันนั้น อัฐิของพระถังซัมจั๋งบางส่วนก็ถูกแบ่งไปที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย อัฐิที่ส่งไปญี่ปุ่นนั้น ครั้งแรกถูกนำไปบรรจุในวัดโซโจหยิ ในเมืองโตเกียว แต่เนื่องจากโตเกียวขณะนั้นถูกโจมตีทางอากาศเป็นอาจิณ อัฐิจึงถูกย้ายมาประดิษฐานชั่วคราวที่วัดซังกาขุอิน เมืองวาราบิ จังหวัดไซตามะ ต่อมามีการสร้างวัดหยิออนหยิขึ้น โดยตั้งชื่อเลียนแบบวัดไดหยิออนหยิ (วัดต้าฉือเอินซื่อ) ซึ่งพระถังซัมจั๋งเป็นผู้สร้าง อัฐิจึงถูกย้ายไปประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันพิจารณาและมีมติเห็นพ้องกันว่า วัดหยิออนหยิเป็นวัดที่เหมาะสมที่สุดที่จะประดิษฐานอัฐิของพระถังซัมจั๋ง เพราะเป็นวัดที่มีความผูกพันกับพระถังซัมจั๋งมากที่สุด จึงสร้างเจดีย์เกนโจ้ (เจดีย์เสวียนจั้ง) 13 ชั้นด้วยหินแกรนิต (ความสูง 15 เมตร) ขึ้นที่นี่

อัฐิส่วนกะโหลกศีรษะพระถังซัมจั๋มกระจายอยู่ตามที่ต่างๆในจีน

จากข้อมูลที่มีอยู่ปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าอัฐิส่วนกะโหลกศีรษะของพระถังซัมจั๋งกระจายอยู่ ณ สถานที่ ต่างๆ 13 แห่งทั่วโลกดังนี้

ในประเทศจีนมี 11 แห่ง ได้แก่ วัดฝ่าเหวียนซื่อ เมืองปักกิ่ง

สวนสาธารณะเป๋ยไห่ เมืองปักกิ่ง

วัดหลิงกู่ซื่อ เมืองนานกิง

เขาฟู่โจวซัน เมืองนานกิง

พิพิธภัณฑ์นานกิง

วัดฝ่าจั้งซื่อ เมืองเซี่ยงไฮ้

วัดเหวินซูเวี่ยน เมืองเฉิงตู

วัดหนันหัวซื่อ เมืองวิ่นกวน มณฑลกวางตุ้ง

วัดเสวียนจั้งซื่อ ไต้หวัน

วัดซิงเจี้ยวซื่อ เมืองซีอาน

วัดต้าฉือเอินซื่อ เมืองซีอาน

ในประเทศอื่นๆมี 2 แห่ง ได้แก่ วัดหยิออนหยิ ประเทศญี่ปุ่น

สถาบันเสวียนจั้ง ประเทศอินเดีย

ญี่ปุ่นแบ่งอัฐิส่วนกะโหลกศีรษะพระถังซัมจั๋งให้จีน

ในวาระที่พระถังซัมจั๋งถึงแก่มรณภาพครบ 1320 ปีเมื่อ ค.ศ. 1984 พระอาจารย์ทาคาดะแห่งวัดยาคุชิหยิได้แบ่งอัฐิส่วนกะโหลกศีรษะส่วนหนึ่งของพระถังซัมจั๋งซึ่งเก็บไว้ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้เดินทางไปประเทศจีนด้วยตนเองเพื่อมอบให้กับพระอาจารย์ฉางหมิงแห่งวัดซิงเจี้ยวซื่อ มณฑลส่านซี อัฐินี้บรรจุไว้ในเจดีย์เสวียนจั้งถ่า

จีนแบ่งอัฐิพระถังซัมจั๋มให้อินเดีย

ในปี 1956 นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลของจีนเยือนประเทศอินเดีย นายกรัฐมนตรีเนรูห์ของอินเดียสั่งให้มีการบูรณะซ่อมแซมวัดนาลันทา (Nalanda) ซึ่งเป็นวัดในอินเดียที่พระถังซัมจั๋งได้ไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ถึง 5 ปี และเสนอให้ตั้งชื่อวัดนี้ใหม่ว่าสถาบันเสวียนจั้ง นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลได้แบ่งอัฐิของพระถังซัมจั๋ง ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่วัดต้าเปยเวี่ยน เมืองเทียนจิน 1 ชิ้น เพื่อมอบให้อินเดียเก็บไว้ที่สถาบันแห่งนี้ รัฐบาลอินเดียได้นำอัฐิดังกล่าวเก็บรักษาไว้ในผอบคริสตัลที่งดงามยิ่ง และนำไปบรรจุในเจดีย์ทอง ซึ่งมีความสูง 40 ซม.

ไต้หวันขอแบ่งอัฐิพระถังซัมจั๋งจากญี่ปุ่น

ต้นทศวรรษปี 1950 ญี่ปุ่นจัดประชุมใหญ่เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนิกชนทั่วโลก รัฐบาลไต้หวันได้ส่งพระอาวุโสถงเจีย พระอาจารย์อิ้นซุ่น คหบดีจ้าวเหิงเจวี้ยน หลี่จื่อเซี่ยน และหลี่เทียนชุน ไปร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ซึ่งทางญี่ปุ่นได้เปิดให้ผู้เข้าประชุมได้ชมอัฐิส่วนกะโหลกศีรษะของพระถังซัมจั๋งด้วย เมื่อผู้แทนของไต้หวันกลับมาถึงประเทศ ก็ได้เสนอรัฐบาลไต้หวันให้ทวงคืนอัฐินั้นจากญี่ปุ่น

ไต้หวันและญี่ปุ่นตกลงกันได้ในปี 1955 โดยแบ่งอัฐินั้นออกเป็น 2 ส่วน ครึ่งหนึ่งคงอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และอีกครึ่งหนึ่งส่งคืนไต้หวันโดยส่งคนไปมอบให้ถึงไต้หวัน เมื่ออัฐิเดินทางถึงสนามบินซงซันของไต้หวัน มีประชาชนมาให้การต้อนรับอย่างล้นหลามถึง 1 แสนคน ครั้งแรกไต้หวันเก็บรักษาอัฐิของพระถังซัมจั๋งที่วัดไคซั่นซื่อ อำเภอซินจู๋ ต่อมารัฐบาลสั่งให้สร้างวัดเสวียนจั้งซื่อขึ้นบนเขาชิงหลงซัน บริเวณยื่อเวี่ยถันซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อของไต้หวัน เพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาอัฐินั้น

การสร้างวัดเสวียนจั้งซื่อวางแผนกันตั้งแต่ปี 1955 พุทธบริษัทในไต้หวันได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อการนี้ โดยมีคหบดีจ้าวเหิงเจวี้ยนเป็นประธาน งานก่อสร้างเริ่มในปี 1956 และแล้วเสร็จในปี 1964

ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “คุณูปการที่พระถังซัมจั๋งมีต่อวัฒนธรรมของจีน” ของนายตงชูชาวไต้หวัน ได้กล่าวไว้ว่า ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการก่อสร้างวัดเสวียนจั้งซื่อล้วนได้รับการบริจาคจากพุทธศาสนิกชน ส่วนรัฐบาลไต้หวันเป็นผู้ออกเงินส่วนที่ขาดเหลือ งานก่อสร้างใช้เวลา 10 ปี ใช้เงิน กว่า 20 ล้านเหรียญไต้หวัน วิหารนี้เป็นสิ่งก่อสร้างเลียนแบบสมัยราชวงศ์ถัง มี 3 ชั้น และชื่อว่าเสวียนจั้งเตี้ยน เขายังบันทึกว่า “ได้มีการสร้างเจดีย์บนเขาชิงหลงซันด้วย โดยตั้งชื่อว่า เจดีย์ฉือเอินถ่า รัฐบาลอุดหนุนเงิน 7 ล้านเหรียญไต้หวัน” ในปี 1964 ที่วิหารสร้างเสร็จ ตรงกับที่พระถังซัมจั๋งถึงแก่มรณภาพ 1300 ปี จึงมีการสร้างบันได 1300 ขั้นจากวัดเสวียนจั้งซื่อขึ้นไปถึงเจดีย์ฉือเอินถ่าบนยอดเขา และได้จัดงานฉลองยิ่งใหญ่ พร้อมกับย้ายอัฐิของพระถังซัมจั๋งไปบรรจุไว้ในเจดีย์นี้ ด้วยเหตุดังกล่าว ยื่อเวี่ยถันจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การแบ่งอัฐิพระถังซัมจั๋ง

ไป๋หลงผิงเสนอให้มีการแบ่งอัฐิ ซึ่งทหารญี่ปุ่นก็ตกลงเห็นด้วยกับการแบ่งดังนี้

ส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่เมืองนานกิง โดยบรรจุในเจดีย์ที่สร้างขึ้นบริเวณทะเลสาบเสวียนอู่หูอู่โจว

ส่วนหนึ่งส่งไปเก็บรักษาที่เป่ยผิง วัดหงฝูซื่อ

และอีกส่วนหนึ่งนำไปประเทศญี่ปุ่น

ประธานสมาพันธ์พุทธศาสนาแห่งประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้นได้เดินทางมาประเทศจีนเพื่ออัญเชิญอัฐิดังกล่าวโดยเฉพาะ อัฐิกะโหลกศีรษะที่นำกลับไปญี่ปุ่นถูกนำไปเก็บรักษาที่วัดหยิออนหยิ ในจังหวัดไซตามะ

อัฐิที่นำไปเมืองปักกิ่ง ยังถูกแบ่งกระจายไป 3 ที่

ส่วนหนึ่ง (3 ชิ้น) พระอาจารย์จวี้จั้นอัญเชิญไปอยู่ที่โบสถ์ต้าเปี้ยนเจวี๋ยถัง วัดฝ่าเวี่ยนซื่อ เมืองเป่ยผิง

ต่อมา 1 ใน 3 ชิ้นดังกล่าวข้างต้น ถูกแบ่งไปบรรจุที่ฐานเจดีย์จิ่วหลงปี้ซินถ่า เป๋ยไห่ในเมืองเป่ยผิง

อีก 1 ชิ้นถูกนำไปประดิษฐานที่วัดต้าเปยเวี่ยน เมืองเทียนจิน



อีกส่วนหนึ่ง พระอาจารย์เหนิงไห่นำกลับไปประดิษฐานที่วัดจิ้งฉือซื่อ มณฑลเสฉวน และในปี 1958 ถูกนำไปรักษาไว้ที่เจดีย์หลิงกู่ถ่า หอเก็บพระคัมภีร์ วัดเหวินซูเวี่ยน เมืองเฉิงตู

อัฐิที่ถูกแบ่งไปเมืองนานกิง ก็ถูกแบ่งกระจายไป 3 ที่

ส่วนหนึ่งอยู่ที่วัดหลิงกู่ซื่อ เมืองนานกิง

ส่วนหนึ่งบรรจุในเจดีย์ซันจั้งบนยอดเขาฟู่โจว เมืองนานกิง

อีกส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์นานกิง

ในหนังสือ “ประวัติย่อพุทธศาสนาสมัยใหม่ในเซี่ยงไฮ้” ซึ่งแต่งโดยอิ๋วโหย่วเหวย กล่าวว่า ที่วัดฝ่าจั้งซื่อ เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 1924 มีเจดีย์บรรจุอัฐิของพระถังซัมจั๋ง แต่ไม่ทราบว่าอัฐิดังกล่าวถูกแบ่งมาจากสายไหน

ทหารญี่ปุ่นพบอัฐิพระถังซัมจั๋งสมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่นานกิง

ผู้ที่มาพบอัฐิของพระถังซัมจั๋งอีกครั้งหนึ่งคือทหารญี่ปุ่นในสงครามจีนและญี่ปุ่น เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1937 กองทัพก๊กมินตั๋งล่าถอยออกจากเมืองนานกิง และกองทัพญี่ปุ่นได้เข้ายึดบริเวณหวี่ฮัวไถ นอกประตูจงหัวในเมืองนานกิงเพื่อสร้างโรงงานผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ ในปี 1942 ขณะที่ทหารญี่ปุ่นขุดดินเพื่อปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างศาลเจ้าอินาริบนภูเขาที่โรงงานตั้งอยู่ ได้พบชั้นดินแปลกประหลาด เมื่อผู้เชี่ยวชาญขุดลึกลงไปอีกประมาณ 3.5 เมตร ก็พบหินก้อนหนึ่ง

ขนาดของชั้นดินเหนียวที่คลุมโกศหิน มีความกว้าง 59 ซม. ความยาว 78 ซม. และความสูง 57 ซม

ขนาดของโกศหิน มีความกว้าง 51 ซม. ความยาว 51 ซม. และความสูง 30 ซม

ฝาโกศทำด้วยอิฐ และสองข้างโกศมีตัวอักษรจารึกไว้ว่า

ฝังในราชวงศ์ซ่งเหนือ เทียนเซิ่งปีที่ 5

ฝังในราชวงศ์หมิง หงอู่ปีที่ 19

ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าเป็นโกศหินที่บรรจุกะโหลกศีรษะของพระถังซัมจั๋งอย่างแน่นอน สิ่งที่บรรจุภายในโกศหินมีดังนี้

1. เสี้ยวหนึ่งของกะโหลกศีรษะ (มีใบหู)

ชิ้นส่วนกล่องทองเหลือง 2-3 ชิ้น

2. กล่องหล่อขึ้นรูปใบเล็ก 1 กล่อง

3. กล่องเงินใบเล็ก 1 กล่อง

4. หยก 1 เม็ด

5. ภาชนะทองเหลือง (ถ้วยน้ำชา ภาชนะสำหรับหุงอาหาร 1 ชิ้น เชิงเทียน 1 ชิ้น)

6. เครื่องลายคราม (แจกันลายครามสีเขียวอ่อน 2 ชิ้น กระถางธูปลายครามสีเขียวอ่อนและจานลายครามสีเขียวอ่อน อย่างละ 1 ชิ้น)

7.เหรียญเงินตรา (เศษชิ้นส่วนของเหรียญเงินตราจำนวนกว่า 300 ชิ้น เป็นเงินตราในสมัยถัง ซ่ง หมิง ฯลฯ)

เมื่อทหารญี่ปุ่นเปิดโกศ ก็พบหยก เครื่องทองเหลือง เครื่องลายคราม เหรียญเงินตรา และอัฐิซึ่งเป็นชิ้นกระดูกของกะโหลกศีรษะจำนวน 17 ชิ้น ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นนายอินาดะดีใจมาก หมายมั่นจะนำกลับไปประเทศญี่ปุ่น แต่ข่าวนี้รั่วไหลออกไป ทำให้เป็นที่ตำหนิติเตียนในหมู่คนจีนเป็นอย่างมาก ทางการจีนที่เป่ยผิง (ปักกิ่งในปัจจุบัน) ไม่อาจนิ่งเฉย จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ชื่อไป๋หลงผิงมาเจรจากับทหารญี่ปุ่น

ประวัติหลังมรณะภาพของพระถังซัมจั๋ง-2

หลังจากนั้นอีก 305 ปี ในปี ค.ศ. 1332 (สมัยราชวงศ์หยวน จื้อซุ่นปีที่ 3) พระอาจารย์กว๋างเอี่ยนแห่งวัดเทียนสี่ซื่อได้เปิดโกศหินที่บรรจุอัฐิของพระถังซัมจั๋ง แล้วเปลี่ยนบรรจุลงในกล่องเงินเล็กๆ ภายนอกมีกล่องเล็กๆซ้อนทับอีกชั้นหนึ่ง พร้อมกันนี้ได้ก่อสร้างเจดีย์ตงเก๋อถ่าขึ้นใหม่ด้วย

ในปี 1686 (สมัยราชวงศ์หมิง หงอู่ปีที่ 19) หวงฝูเติงและพวกได้นำอัฐิของพระถังซัมจั๋งบรรจุในโกศหินเช่นเดิม ภายนอกมีชั้นดินเหนียวคลุมอีกชั้นหนึ่ง แล้วย้ายไปฝังที่เจดีย์ซันถ่าบนเนินเขาด้านใต้ของวัดเทียนสี่ซื่อ

ในปี 1854 (สมัยราชวงศ์เช็ง เวยเฟิงปีที่ 4) เกิดกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว บ้านเมืองมีศึกสงครามหลายครั้ง เจดีย์นี้จึงถูกทำลายไป และอัฐิของพระถังซัมจั๋งก็สูญหายไปพร้อมกันด้วย นับเป็นครั้งที่ 2 ที่อัฐิของพระถังซัมจั๋งสูญหายไป

ประวัติหลังมรณะภาพของพระถังซัมจั๋ง-1

พระถังซัมจั๋งถึงแก่มรณภาพที่พระตำหนักวี่หัวกงเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.664 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของจักรพรรดิเทนจิของญี่ปุ่น ศพของพระถังซัมจั๋งได้ถูกย้ายจากพระตำหนักวี่หัวกงมาที่ศาลาแปลพระไตรปิฎก วัดต้าฉือเอินซื่อ ในเมืองฉางอัน และหลังจากเสร็จสิ้นพิธีทางศาสนาถูกฝังไว้ที่ไป๋ลู่เหวียน ซึ่งอยู่ชานเมืองด้านตะวันออกของเมืองฉางอันเมื่อวันที่ 15 เมษายนปีเดียวกัน อีก 5 ปีต่อมา ฮ่องเต้ถังเกาจงมีพระบรมราชโองการให้ย้ายอัฐิของพระถังซัมจั๋งมาเก็บรักษาที่วัดซิงเจี้ยวซื่อซึ่งอยู่ชานเมืองด้านใต้ และสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิเพื่อเป็นที่สักการบูชาของคนทั่วไป เมื่อล่วงมาถึงปลายราชวงศ์ถัง ชาวนาก่อจลาจลและได้ทำลายวัดซิงเจี้ยวซื่อจนเสียหาย นับจากนั้นเป็นเวลานานกว่า 100 ปีที่ไม่มีผู้ใดทราบว่าอัฐิของพระถังซัมจั๋งไปอยู่ ณ ที่แห่งใด วัดซิงเจี้ยวซื่อที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นการสร้างขึ้นใหม่ภายหลัง

เมื่อปี ค.ศ. 988 (สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ตวนก่งปีที่ 1) พระภิกษุเข่อเจิ้งแห่งวัดฉางกั้นในเมืองจินหลิง (นานกิงในปัจจุบัน) ได้พบกะโหลกศีรษะของพระถังซัมจั๋งที่วัดจื่อเก๋อซื่อบนเขาจงหนันซันในมณฑลส่านซี สมัยนั้นจีนมักจะถูกคุกคามโดยผู้รุกรานจากทางเหนือเป็นประจำ โดยเฉพาะจากชนเผ่าซีเซี่ย ทำให้พระภิกษุเข่อเจิ้งตัดสินใจนำอัฐิของพระถังซัมจั๋งกลับมาที่เมืองจินหลิงด้วย และได้บรรจุไว้ในเจดีย์ตงเก๋อถ่าแห่งวัดฉางกั้น อีก 39 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1027 (สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ เทียนเซิ่งปีที่ 5) ถังเหวินเสวี่ยนและพวกได้ย้ายอัฐิของพระถังซัมจั๋งมาฝังบนเนินเขาตะวันออกในวัดเทียนสี่ซื่อใกล้กับหวี่ฮัวไถ

อัฐิพระถังซัมจั๋ง

เรามักจะเห็นภาพคนญี่ปุ่นที่เดินทางไปเที่ยวเมืองซีอาน (มณฑลส่านซี) แวะไปกราบไหว้เจดีย์ที่บรรจุอัฐิของพระถังซัมจั๋งในวัดซิงเจี้ยวซื่อเสมอ นอกจากที่วัดนี้แล้ว เชื่อกันว่าอัฐิของพระถังซัมจั๋งยังกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆอีกหลายแห่ง ซึ่งผู้รู้เรื่องนี้อย่างลึกซึ้งยังมีไม่มากนัก จีนกับญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งที่บาดหมางใจกัน และในช่วงนี้นี่เองที่อัฐิของพระถังซัมจั๋งได้ถูกแบ่งและกระจายไปยังที่ต่างๆ
จากข้อมูลที่มีอยู่และผลการค้นคว้า อาจสรุปได้ว่า ปัจจุบันอัฐิของพระถังซัมจั๋งถูกเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่ 13 แห่งดังนี้
ประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน มณฑลเสฉวน และมณฑลกวางตุ้ง ที่ละ 1 แห่ง
มณฑลส่านซี และมณฑลเหอเป่ย ที่ละ 2 แห่ง
มณฑลเจียงซู 4 แห่ง
สถานที่ซึ่งเชื่อกันว่ามีอัฐิของพระถังซัมจั๋งเก็บรักษาไว้เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคม การเมืองในยุคสมัยนั้นๆ และจุดยืนของศาสนาพุทธในจีนเป็นอย่างดี