วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ไต้หวันขอแบ่งอัฐิพระถังซัมจั๋งจากญี่ปุ่น

ต้นทศวรรษปี 1950 ญี่ปุ่นจัดประชุมใหญ่เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนิกชนทั่วโลก รัฐบาลไต้หวันได้ส่งพระอาวุโสถงเจีย พระอาจารย์อิ้นซุ่น คหบดีจ้าวเหิงเจวี้ยน หลี่จื่อเซี่ยน และหลี่เทียนชุน ไปร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ซึ่งทางญี่ปุ่นได้เปิดให้ผู้เข้าประชุมได้ชมอัฐิส่วนกะโหลกศีรษะของพระถังซัมจั๋งด้วย เมื่อผู้แทนของไต้หวันกลับมาถึงประเทศ ก็ได้เสนอรัฐบาลไต้หวันให้ทวงคืนอัฐินั้นจากญี่ปุ่น

ไต้หวันและญี่ปุ่นตกลงกันได้ในปี 1955 โดยแบ่งอัฐินั้นออกเป็น 2 ส่วน ครึ่งหนึ่งคงอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และอีกครึ่งหนึ่งส่งคืนไต้หวันโดยส่งคนไปมอบให้ถึงไต้หวัน เมื่ออัฐิเดินทางถึงสนามบินซงซันของไต้หวัน มีประชาชนมาให้การต้อนรับอย่างล้นหลามถึง 1 แสนคน ครั้งแรกไต้หวันเก็บรักษาอัฐิของพระถังซัมจั๋งที่วัดไคซั่นซื่อ อำเภอซินจู๋ ต่อมารัฐบาลสั่งให้สร้างวัดเสวียนจั้งซื่อขึ้นบนเขาชิงหลงซัน บริเวณยื่อเวี่ยถันซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อของไต้หวัน เพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาอัฐินั้น

การสร้างวัดเสวียนจั้งซื่อวางแผนกันตั้งแต่ปี 1955 พุทธบริษัทในไต้หวันได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อการนี้ โดยมีคหบดีจ้าวเหิงเจวี้ยนเป็นประธาน งานก่อสร้างเริ่มในปี 1956 และแล้วเสร็จในปี 1964

ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “คุณูปการที่พระถังซัมจั๋งมีต่อวัฒนธรรมของจีน” ของนายตงชูชาวไต้หวัน ได้กล่าวไว้ว่า ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการก่อสร้างวัดเสวียนจั้งซื่อล้วนได้รับการบริจาคจากพุทธศาสนิกชน ส่วนรัฐบาลไต้หวันเป็นผู้ออกเงินส่วนที่ขาดเหลือ งานก่อสร้างใช้เวลา 10 ปี ใช้เงิน กว่า 20 ล้านเหรียญไต้หวัน วิหารนี้เป็นสิ่งก่อสร้างเลียนแบบสมัยราชวงศ์ถัง มี 3 ชั้น และชื่อว่าเสวียนจั้งเตี้ยน เขายังบันทึกว่า “ได้มีการสร้างเจดีย์บนเขาชิงหลงซันด้วย โดยตั้งชื่อว่า เจดีย์ฉือเอินถ่า รัฐบาลอุดหนุนเงิน 7 ล้านเหรียญไต้หวัน” ในปี 1964 ที่วิหารสร้างเสร็จ ตรงกับที่พระถังซัมจั๋งถึงแก่มรณภาพ 1300 ปี จึงมีการสร้างบันได 1300 ขั้นจากวัดเสวียนจั้งซื่อขึ้นไปถึงเจดีย์ฉือเอินถ่าบนยอดเขา และได้จัดงานฉลองยิ่งใหญ่ พร้อมกับย้ายอัฐิของพระถังซัมจั๋งไปบรรจุไว้ในเจดีย์นี้ ด้วยเหตุดังกล่าว ยื่อเวี่ยถันจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก