วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (COLORECTAL CANCER)

อาการ

อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้นกับตำแหน่งของก้อนเนื้องอกที่เป็น โดยลำไส้ใหญ่จะอยู่ทางด้านซ้าย ขวา และส่วนบนของท้อง รวมถึงส่วนที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานเพื่อเปิดออกที่ทวารหนัก นอกจากอาการตามตำแหน่งที่เป็นแล้ว อาการยังขึ้นกับระยะของโรค โดยเฉพาะถ้ามีการแพร่กระจายแล้ว อาการแสดงสามารถมาจากอวัยวะที่กระจายไป เช่น ถ้าไปปอดก็จะมีอาการไอ ตั้งแต่ไอแห้งๆ จนถึงไอเป็นเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาการทั่วๆไปของคนป่วยเป็นมะเร็งเช่นเดียวกับมะเร็งของอวัยวะอื่น เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ต่ำๆ เป็นต้น

อาการเฉพาะที่

จะเด่นชัดเมื่อก้อนเนื้องอกอยู่ใกล้รูเปิดทวารหนักได้แก่อาการปวดเบ่งหรือรู้สึกถ่ายไม่สุด อาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเสียโดยไม่มีสาเหตุ จนถึงก้อนอุจจาระเล็กลงหรือมีเลือดปน ตั้งแต่เลือดสดๆ เลือดเก่าๆสีคล้ำๆ จนถึงสีดำเหมือนน้ำมันดิน แสดงว่าก้อนเนื้องอกอยู่ต้นๆของลำไส้ใหญ่ ที่ห่างไกลจากรูทวารหนักมาก ส่วนมากจะมีมูกเพิ่มขึ้นด้วย










เมื่อเนื้องอกโตเพิ่มขึ้น อาจใหญ่จนทำให้ทางเดินลำไส้แคบลงหรือตีบไป ทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตันได้ ผู้ป่วยดังกล่าวจะมาพบแพทย์ด้วยท้องใหญ่ขึ้น ผายลมหรือถ่ายน้อยลงจนถึงไม่ถ่าย หรือท้องผูก หากการอุดตันทำให้ลมไม่สามารถผ่านออกมาได้ ทำให้อาเจียน บางครั้ง การอุดตันทำให้ลำไส้ส่วนก่อนถึงจุดอุดตันมีการขยายตัวโป่งออกและแตกทะลุ ทำให้อุจจาระและเชื้อโรคกระจายอยู่ในช่องท้อง ทำให้ช่องท้องอักเสบ (peritonitis) ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตได้

เมื่อก้อนเนื้องอกใหญ่ขึ้น ทำให้แพทย์สามารถคลำพบเป็นก้อนในการตรวจร่างกายบริเวณท้องได้ นอกจากนี้หากมะเร็งลุกลามไปอวัยวะใกล้เคียง เข่น ไตหรือท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะเป็นเลือดได้

อาการทั่วๆไป

หากก้อนเนื้องอกลำไส้มีเลือดออกทีละน้อย โดยไม่รู้สึก นานไปทำให้เป็นโรคโลหิตจางขนิดขาดธาตุเหล็กได้ ภาวะโลหิตจางหรือซีดทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น และซีดขาว โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำให้มีน้ำหนักลดจากตัวมะเร็งเองร่วมกับอาการเบื่ออาหาร ทานได้น้อยลง

ในบางรายอาจมีอาการไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ ภาวะเลือดแข็งตัวง่าย อุดตันในเส้นเลือดต่างๆ ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะหรือแขนขาได้

การแพร่การะจาย(ระยะที่สี่)

มะเร็งลำไส้ใหญ่มักกระจายไปที่ตับ โดยที่ผู้ป่วยไม่ทราบหรือไม่รู้สึก นอกจากมะเร็งที่กระจายมีจำนวนมากขึ้นหรือเจริญเติบโตใหญ่ขึ้นทำให้มีอาการตัวเหลืองตาเหลืองหรือปวดท้องเนื่องจากเนื้อมะเร็งใหญ่ขึ้นดันถุงที่หุ้มตับทำให้รู้สึกปวด ถ้าก้อนเนื้อที่กระจายไปตับแล้วอุดกั้นทางเดินน้ำดี ผู้ป่วยจึงจะมีอาการเหลืองให้เห็นร่วมกับอาการอื่นของการอุดตันน้ำดี เช่น อุจจาระสีซีด(ขาดน้ำดีปน) เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

การเกิดติ่งเนื้อ(polyp or adenoma) ของลำไส้โดยเฉพาะชนิด tubular เป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เชื่อว่ามีปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดดังนี้

อายุ

พบมากขึ้นตามอายุ ดังนั้นส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงวัย โดยเฉพาะหลัง 60-70 ปี พบได้น้อยในอายุก่อน 50 ปี นอกจากมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อายุน้อย ดังที่กล่าวมาข้างต้น ติ่งเนื้อโดยเฉพาะ adenomatous polyps เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ การตัดติ่งเนื้อลำไส้ในระยะแรกๆ สามารถลดอุบัติการเกิดโรคได้




ประวัติมะเร็งในอดีต

ผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยหรือรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ในอดีต จะเสี่ยงต่อการเกิดเป็นซ้ำอีกในอนาคต หญิงที่มีประวัติมะเร็งรังไข่ มดลูก หรือมะเร็งเต้านม เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ๋

กรรมพันธ์
ประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 55 ปี หรือ ญาติหลายคนเป็น
Familial adenomatous polyposis (FAP) ติ่งเนื้อชนิดนี้ พบในครอบครัวใด ญาติสายตรงในครอบครัว มีโอกาสเป็น 100 %
Hereditary nonpolyposis colorectal cancer (HNPCC) or Lynch syndrome ก็เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธ์

การสูบบุหรี่

จากการสำรวจของสมาคมโรคมะเร็งแห่งอเมริกา พบว่าผ้สูบบุหรี่จะเสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ๋มากกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบ โดยเฉพาะในสตรีที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ๋เพิ่มขึ้น 40% ส่วนในชายจะเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับผู้ไม่สูบบุหรี่

อาหาร

โดยเฉพาะผู้ที่ชอบทานเนื้อแดงและไม่ชอบทานผัก ผลไม้สด เป็ดไก่และเนื้อปลา ในยุโรป(the European Prospective Investigation into Cancer and Nutrition) ราวเดือนมิถุนายม 2005 ได้ทำการสำรวจ ผลก็ออกมาทำนองเดียวกัน และยังพบว่าผู้ที่รับประทานปลาเป็นประจำสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

ผู้นั่งโต๊ะทำงาน(ไม่ชอบออกกำลังกาย)

ผู้ที่ออกกำลังกายประจำจะมีความเสี่ยงลดลง

ไวรัสบางชนิด

โดยเฉพาะ human papilloma virus ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ก็เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้นได้

โรคการอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น ท่อน้ำดีอักเสบ ก็พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยง ส่วนลำไส้อักเสบเรื้อรัง ulcerative colitis พบมีอุบัติการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ 1%

ระดับเซสีเนียมในเลือดต่ำ

ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม

คนที่อยู่ในประเทศอุตสาหกรรมจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนในประเทศที่กำลังพัฒนา อาจเป็นเพราะคนในประเทศที่กำลังพัฒนาทานอาหารที่มีกากใยอาหารมากกว่า และ/หรือ อาหารที่มีไขมันต่ำกว่า แต่เมื่อคนจากประเทศกำลังพัฒนาย้ายไปอยู่ในประเทศที่พัฒนาและทานอาหารเช่นเดียวกับคนในประเทศนั้นๆ ก็มีอุบัติการเกิดของมะเร็งลำไส้ใหญ๋ใกล้เคียงกัน(สูงขึ้น) อันเป็นการยืนยันว่าอาหารเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรค

การรับประทานฮอร์โมน

โดยเฉพาะอีสโตรเจนเสริมในหญิงที่หมดประจำเดือน

แอลกอฮอร์

โดยเฉพาะผู้ดื่มจัด(45 กรัมต่อวัน)ที่เป็นเพศชาย มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 70 % และแอลกอฮอร์เป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เร็วขึ้น

การตรวจคัดกรอง

สามารถลดการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 29% ใน 20 ปี เนื่องจากอุบัติการของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่สูง ดังนั้นการคัดกรองจึงได้ประโยชน์ในกลุ่มเสี่ยงสูง โดยมีวิธีการคัดกรองดังต่อไปนี้

การตรวจทางทวารหนักโดยการล้วงด้วยนิ้วมือ Digital rectal exam (DRE):

โดยแพทย์จะสวมถุงมือยางและทาวาสลินเพื่อหล่อลื่นไว้ที่ปลายนิ้วก่อนสอดนิ้วเข้าไปในทวารหนัก การตรวจด้วยวิธีนี้จะได้ผลเฉพาะก้อนเนื้อที่มีขนาดใหญ๋พอและอยู่ส่วนปลายใกล้ทวารหนัก-บริเวณของไส้ตรง (rectum) เท่านั้น ถือเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้น


การตรวจร่องรอยของเลือดในอุจจาระ Fecal occult blood test (FOBT):

เป็นการนำอุจจาระมาตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีความไวและความจำเพาะต่ำ แต่ทำได้ง่าย

การตรวจด้วยกล้องส่องลำไส้ใหญ่

ขึ้นกับชนิดของกล้องที่ใช้ กล้องสั้นใช้ตรวจเฉพาะทวารหนักถึงลำไส้ใหญ่ข้างซ้าย เรียก sigmoidoscope ส่วนกล้องยาวตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมดเรียก colonoscopy การตรวจด้วยกล้องดีกว่าวิธีอื่น เพราะเมื่อตรวจพบติ่งเนื้อ (polyp) สามารถตัดออกมาส่งตรวจได้ หรือ ในกรณีที่ไม่สามารถตัดได้หมดก็จะคีบบางส่วนของชิ้นเนื้อ (biopsy) ที่สงสัยมาตรวจทางพยาธิได้

ในอเมริกา นิยมตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยกล้องชนิดยาว (colonoscopy) หรือ การสองตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยกล้องชนิดสั้น (sigmoidoscopy) ร่วมกับการตรวจอุจจาระหาร่องรอยของเม็ดเลือดแดง(FOBT) ในครอบครัวที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อายุน้อยหรือชนิดถ่ายทอดทางกรรมพันธ์ ควรคัดกรองล่วงหน้า 10 ปีจากอายุของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง ในคนที่มีความเสี่ยงมาก ควรทำการตรวจทุก 2-3ปี เพื่อตรวจหามะเร็งระยะแรก แต่ถ้าเป็นแล้วรักษาหรือผ่าตัดแล้ว ให้ทำการติดตามโดยการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยกล้องชนิดยาว (colonoscopy) ทุกปี สำหรับในกลุ่มเสี่ยงทั่วไป เช่น อายุมากกว่า 50 ปีซึ่งไม่มีประวัติมะเร็งลำไส้ในครอบครัว ให้ทำการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยกล้องดังกล่าวข้างต้นทุก 5 ปี




เอกสารอ้างอิง

www.wikipedia.org

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก