วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

จะออกจาก"มิคสัญญี"อย่างไร โดย ประเวศ วะสี

บังเอิญไปพบบทความของอาจารย์ราษฏรอาวุโส ซึ่งท่านเขียนไว้นานแล้ว แต่ผมเห็นว่ายังใช้ได้กับสถานะการณ์ปัจจุบันได้ จึงนำมาลงไว้ให้อ่าน

ที่มา มติชนรายวัน 14 มิ.ย. 2550 หน้า 15 เซคชั่นกระแสทรรศน์


ทำไมการเมืองไม่สามารถนำสิ่งดีงามสู่บ้านเมือง ตรงกันข้ามมีความขัดแย้งรุนแรงและนำไปสู่การนองเลือดหลายครั้งหลายหน รวมทั้งความแตกแยกในปัจจุบัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงนองเลือดถึงขั้น "มิคสัญญี กลียุค"

คนไทยควรพิจารณาอย่างจริงจังว่าเราจะออกจากมิคสัญญีกลียุคได้อย่างไร

ถ้าระบอบประชาธิปไตยไม่ลงตัวทุกฝ่ายลำบากหมด ใครมาเป็นรัฐบาลก็ลำบาก ตราบใดที่ระบอบประชาธิปไตยไม่ลงตัว พระมหากษัตริย์ก็ลำบาก ประชาชนก็ลำบากสุดสุด นอกจากแก้ความยากจนและความไม่เป็นธรรมทางสังคมไม่ได้ ยังถูกลากเข้าไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง ต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินลงอย่างน่าอนาถ

กรณีทักษิณนำความขัดแย้งไปสู่มิติใหม่ ที่มีทุนขนาดใหญ่เข้ามาขัดแย้งกับระบอบอมาตยาธิปไตย ทุนขนาดใหญ่มีฤทธิ์ มีอำนาจในการต่อสู้มาก ความขัดแย้งจึงมีขนาดและขอบเขตใหญ่และรุนแรงได้มาก ไม่สามารถนำไปสู่การลงตัวได้ การยึดมั่นทางใดทางหนึ่งก็ไม่เป็นทางที่เราจะออกจากมิคสัญญีกลียุคได้ และจะพากันพ่ายแพ้ด้วยกันทั้งหมด

ทางออกของปัญหาดังกล่าวคือ ระบอบประชาธิปไตยจะก้าวหน้าไปได้ต้องมีกรอบ กติกา กลไกที่ชัดเจน และมีประชาชนเป็นผู้กำกับ มีรากฐานอยู่ในประชาธิปไตย จะแตกต่างกัน จะถกเถียงกัน จะชุมนุม จะเดินขบวน เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ควรอยู่ในกรอบและกติกาอันหนึ่ง นั่นคือ กรอบของสันติวิธี และกติกาว่าจะใช้หลักฐานข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผล

ค้านได้ ไม่เห็นด้วยได้ แต่ต้องแสดงเหตุผล การด่า การประณาม การพูดเสียดสีที่เรียกว่าผรุสวาจา ไม่ทำให้คนฉลาดขึ้น นำไปสู่ความแตกแยกและความรุนแรง ดังนั้น ทุกฝ่ายควรจะเข้ามาสร้างกรอบและกติกาพื้นฐานร่วมกันเสียก่อนว่าจะใช้สันติวิธีและสัมมาวาจา เพื่อเปิดโอกาสให้สิ่งดีๆ เกิดตามมาได้

ถ้าจัดให้มีเวทีประชาธิปไตยที่ผู้คนทุกฝ่ายสามารถถกเถียงกันได้ด้วยเหตุผล และมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศให้ประชาชนรับดูรับฟังและมีส่วนร่วม ประชาชนทั้งประเทศจะเป็นผู้กำกับว่าต้องทำตามกรอบและกติกา อยู่ในร่องในรอย ใช้ข้อมูลหลักฐานและเหตุผลมากขึ้นเรื่อยๆ มีคณะกรรมการเวทีประชาธิปไตยเป็นผู้รักษากรอบและกติกา

ผู้เริ่มต้น ได้แก่ สถาบันพระปกเกล้า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ ปรึกษาหารือกันว่าจะเชิญทุกฝ่ายมาร่วมสร้างกรอบ กติกา และกลไก เบื้องต้นร่วมกันอย่างไร เชิญบุคคลที่เหมาะสมมาเป็นคณะกรรมการประชาธิปไตย รัฐบาลควรถือเป็นโอกาสที่จะสนับสนุนเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใช้งบประมาณไม่มาก แต่จะพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว และยกระดับสติปัญญาของคนทั้งประเทศขึ้นอย่างก้าวกระโดดในเวลาอันสั้น ทำให้ประชาชนเข้ามากำหนดและกำกับกรอบ กติกา และกลไกประชาธิปไตยได้

ถ้าเรารวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี ไม่เป็นการยากเลยที่ภายใน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะแข็งแรง สันติ และร่มเย็นเป็นสุข เราควรมองไปข้างหน้าและเห็นอนาคตที่ดีร่วมกัน มากกว่าไปขมขื่นอยู่กับอดีต

โบราณว่าวิกฤตเป็นโอกาส เพื่อนคนไทยครับ โอกาสอยู่ต่อหน้าท่านแล้ว ที่เราจะไปสู่จุดลงตัวใหม่ที่ดีร่วมกัน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก