ฝากความห่วงใย
บันทึกนี้เป็นจดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนที่ผมรักทุกคน หลังจากที่ผมได้เกษียณมาเกือบปีแล้ว เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น จึงอยางแบ่งปันให้คนที่เรารักได้อ่านบ้าง
นับเป็นเวลาสามสิบกว่าปีที่เราทำงานหาเลี้ยงชีพ เพื่อครอบครัว เพื่อคนที่เรารัก เพื่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำและควรทำ เป็นความปกติของสังคม เพื่อทำให้สังคมที่เราอยู่มีความเจริญก้าวหน้า ดำรงไว้ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของเราไว้
แต่มีหลายๆครั้งที่ความเจ็บไข้ได้ป่วยมาเยือน ทำให้เรามีเวลาของตัวเองที่จะหยุด คิด และทบทวนเพื่อตอบคำถามตัวเองว่า ที่ผ่านมา เราได้ทำอะไรเพื่อตัวเราเองมากน้อยเพียงใด เราได้ตามใจกิเลสในตัวเองบ่อยแค่ไหน เปรี้ยวปากอยากกินเบียร์ก็ได้กิน อยากซื้อของแพงๆใช้ก็ได้ซื้อ ขี้เกียจอยากนอนตื่นสายก็ได้ทำบ่อยๆ อยากกินของอร่อยๆก็ได้กิน เรื่องน้ำหนักเกิน ไขมันเกิน วันหลังค่อยว่ากัน ในฐานะชาวพุทธโดยกำเนิด เราได้ทำอะไรให้ตัวเองที่เรียกว่าเป็นบุญเป็นกุศลให้ตัวเองมากน้อยเพียงใด ถ้าเราต้องตายลงไปวันนี้ จะไปเกิดดีหรือไม่หนอ แต่น่าจะไม่ดีเพราะวันหนึ่งๆ เราทำบาปมากกว่าบุญ เช่น ขับรถมาทำงานถูกคนอื่นขับรถเบียดหรือบีบแตรใส่ ใจก็ขุ่นมัวแล้ว แถมยังกวนความโกรธให้เกิดขึ้น เป็นการขยายผลแห่งความไม่ดีให้มากขึ้น โดยที่รถคันต้นเหตุอาจไปถึงไหนแล้วก็ไม่ทราบ นี้เป็นเพียงช่วงสั้นๆเท่านั้น ถ้าเป็นทั้งวันแล้ว ลองนึกดูเองก็ได้ว่าใจเราเป็นกุศลหรืออกุศลมากกว่ากัน เพราะฉะนั้น เมื่อความเจ็บป่วยได้มาเยือน ก็เท่ากับว่าได้มาเตือน เตือนเราว่าชีวิตนี้มันสั้นนัก เผลอแพลบเดียวเกษียณหรือตายเสียแล้ว
ขอบคุณความเจ็บป่วยที่เป็นเสมือนเทวทูตมาเตือน ต่อไปนี้ เราจะทำอะไรเพื่อตัวเราเองบ้าง ตัดความห่วงใยต่างๆ(ห่วงไปก็เท่านั้น) ตัดธุระที่ไม่เป็นกุศล ระวังกาย วาจา ใจ รักษากาย วาจา ใจ ให้ทุกเวลานาทีมีคุณค่า เราจะมีแต่ปัจจุบัน ไม่อาลัยในสิ่งที่ผ่านมา(เพราะแก้อะไรไม่ได้แล้ว) ไม่ฟุ้งซ่านหรือกังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เรามีแต่ปัจจุบัน เราจะตั้งหน้าสร้างกุศล(บุญ)ให้เกิดขึ้นทุกๆวัน บุญทำได้ทางกาย วาจาและใจ บุญทางกาย วาจาเกิดจากการมีธรรมห้า(คู่กับศีลห้า) บุญทางใจเกิดได้โดยการฝึกตามดู ตามรู้ ไม่ให้โลภะ โทสะ โมหะ มาครอบงำจิตใจ แม้ความฟุ้งซ่าน ง่วงเหงาหาวนอนในขณะทำสมาธิให้น้อยลง ให้ใจตื่น ให้ใจเบิกบาน ให้ใจสงบด้วยวิธีการฝึกของสมฌะ ซึ่งมี 40 วิธีเช่น อานาปานสติ ยุบหนอ-พองหนอ สัมมาอรหัง เป็นต้น หรือแม้แต่การทอดสายตาไปไกลๆ ปล่อยใจให้สบายๆไม่คิดอะไร ก็อาจเกิดสมาธิเบื้องต้นได้ เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือธรรมะ การสวดมนต์ก็เป็นการทำให้ใจเป็นกุศลได้ในเบื้องต้น
กายและใจเป็นของคู่กัน เป็นสิ่งอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน กายไม่สบายก็ยากที่จะทำให้ใจสงบได้ แต่การทำความเข้าใจและการฝึกสมาธิ สามารถทำให้ใจของเราออกจากกายได้ แม้เพียงชั่วขณะก็จะได้รับความสงบ ความสุขของใจที่เป็นอิสระจากความทุกข์ทางกายได้ ยิ่งถ้าฝึกได้ชำนาญแล้วดังเช่นอริยะสงฆ์หลายๆรูปที่เราได้ทราบกันว่าตอนใกล้มรณภาพแม้จะมีทุกขเวทนาอย่างไร ท่านก็สละร่างไปอย่างสงบ เช่นเดียวกับนักรบที่ตายในสนามรบอย่างองอาจและกล้าหาญ แม้ปุถุชนหลายๆคนที่หายจากโรคร้ายต่างๆได้ เพราะจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ หรืออย่างน้อยก็เผชิญหน้ากับมันด้วยความกล้าหาญ เพราะเมื่อโรคร้ายหรือความเจ็บป่วยมาถึงแล้วทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราจงอยู่กับมัน ขอให้เราป่วยแต่กายแต่ใจไม่ป่วย เป็นเวลาดี เป็นเวลาเหมาะแล้วที่เราจะใช้การเจ็บป่วยนี้มาฝึกใจของเรา ให้ใจเราเข้มแข็ง อดทน สงบและตั้งมั่น ขอให้กำลังใจตัวเอง ให้กำลังใจคนรอบข้าง จงเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส จงทำวัฏฏสงสารให้สั้นเข้า เพื่อเราจะได้ข้ามพ้นความทุกข์ และความสุข เข้าสู่ความหลุดพ้นชั่วนิรันดร์
อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน
ขอพลังความดีทั้งหลายที่เราได้สร้างสมอบรมมาจงมาเป็นกำลังใจให้เราฟันฝ่าอุปสรรค์ต่างๆนาๆโดย สวัสดี เทอญ
เด็กวัดเก่า
26 เมษายน 2553
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]
<< หน้าแรก